ประวัติ

ประวัติวัดปากน้ำนิวซีแลนด์ 

สถานภาพและที่ตั้ง 

วัดปากน้ำนิวซีแลนด์ เป็นวัดในพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แห่งคณะสงฆ์ไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดบนไหล่เขา แวดล้อมไปด้วยสวนกีวี่และทุ่งหญ้าเกษตรกรรมมองเห็นภูเขาเม้าท์มอนกานูอิและมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ทางทิศเหนือ  อยู่นอกเขตชุมชนเป็นสถานที่เงียบสงบ อากาศบริสุทธิ์ เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา ตั้งอยู่เลยที่ ๔๕๓  ถนนไกเตมาโกะ  ตำบลเวลคัมเบย์  เมืองทัวรังง่า ประเทศนิวซีแลนด์ อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติอ๊อคแลนด์(Auckland) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๒๐๕ กิโลเมตร อยู่ใกล้กับภูเขาเมาท์มอนกานูอิ ซึ่งเป็นสถานที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศ

พื้นที่และอาณาเขตวัด 

วัดมีเนื้อที่ ๑.๕๙๕๐ เฮคเตอร์ (Hectares) หรือประมาณ ๑๐ ไร่ ทิศเหนือติดที่ดินเอกชน(แลเห็นมหาสมุทรแปซิฟิกถัดออกไป) ทิศเหนือติดที่ดินเอกชนเป็นเนินเขาและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทิศใต้ติดกับที่ดินเอกชนเป็นบ้านพักอาศัย ทิศตะวันตกติดกับถนนไกเตมาโกะ

ประวัติความเป็นมา 

สืบเนื่องจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง  วรปุญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ  เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ได้รับอาราธนาให้มาปฏิบัติศาสนกิจ  ณ  ประเทศนิวซีแลนด์  ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้ดำริถึงงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสอนภาวนาในต่างประเทศ เพื่อเผื่อแผ่ความสุขและชี้นำแนวทางชีวิตอันงดงามแก่เพื่อนมนุษย์ทั่วโลก  ที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ริเริ่มไว้ อันเป็นเหตุให้เกิดการสร้างวัดมงคลเทพมุนี (รัฐเพ็นซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา) วัดปากน้ำญี่ปุ่น (ประเทศญี่ปุ่น)  และวัดปากน้ำอเมริกา        (รัฐโอไฮโอ้  สหรัฐอเมริกา) โดยลำดับสมควรที่จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติภาวนาไว้ในประเทศนิวซีแลนด์อีกแห่งหนึ่ง จึงได้มีการติดต่อประสานงานหาสถานที่ตั้งวัด และสำรวจสถานที่ในช่วงเวลาดังกล่าว

การจัดซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งวัดก็ได้ดำเนินการในปีเดียวกันนั้น และได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดปากน้ำนิวซีแลนด์” เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้ส่งพระภิกษุจากวัดปากน้ำมาปฏิบัติศาสนกิจชุดแรก ๓ รูป คือ ๑.พระมหาผดุงพงษ์ สุวํโส (สมณศักดิ์ปัจจุบัน พระวิเทศโพธิคุณ)  ๒.พระมหาสิปปกร ปกรโณ  ๓.พระมหาธเนศ ธเนโส ป.ธ.๙ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๔๕  คณะพระภิกษุผู้มาปฏิบัติศาสนากิจได้ดัดแปลงบ้านเก่า ขนาด ๔ ห้องนอน ที่ติดมาพร้อมกับที่ดินเป็นอาคารที่พักสงฆ์เป็นหอสวดมนต์ และเป็นศาลาการเปรียญในหลังเดียวกัน และได้ดัดแปลงโรงเก็บรถเป็นสถานที่เจริญภาวนา

การดำเนินกิจกรรมของวัดในยุคแรกเป็นไปด้วยความยุ่งยาก เนื่องจากความไม่เข้าใจของเพื่อนบ้านและเงื่อนไขของกฏหมายท้องถิ่นบางประการ จนเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เป็นข่าวใหญ่ประจำเมือง(สาเหตุมากจากไก่ที่วัดเลี้ยงไว้ได้เดินเข้าไปในเขตของเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน) ทำให้สื่อมวลชนของนิวซีแลนด์ได้เข้ามาสังเกตุการณ์และได้เขียนบนความตีแผ่ความจริงลงในหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุให้วัดได้รับความเห็นใจและเท่ากับเป็นการประกาศเกียรติคุณของพระพุทธศานา ในนามของ “พุทธสมาคมเบย์ออฟเพลนตี้” โดยชาวนิวซีแลนด์ได้มาช่วยดำเนินการ โดยมี คุณจิล เบสท์ (Jill Best) ครูสอนภาษาอังกฤษและหัวหน้าบรรณารักษ์ห้องสมุดประจำเมืองทัวรังง่าเป็นเลขาธิการสมาคม อุปสัคก็ค่อยๆคลี่คลายด้วยความอดทนและการเรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกัน สาธุชนชาวไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ที่ทราบข่าวการสร้างวัด ได้แวะเวียนมาให้กำลังใจแก่คณะสงฆ์ไม่ขาดสาย และมีพระมหาเถระจากประเทศไทยได้มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจด้วย